กวางป่า หรือกวางม้า มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซีย เกาะสุมาตรา อินเดีย จีน ไต้หวัน กัมพูชา ลาว และไทย เป็นกวางที่มีขนาดใหญ่ สีน้ำตาลเข้ม
เนื้อทราย มีถิ่นกำเนิดในเอเชีย พบได้ใน พม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย มีขนาดเล็ก-กลาง
กลางดาว เป็นกวางที่มีขนาดเล็ก เลี้ยงอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี อุปนิสัยค่อนข้างเชื่องกว่าพันธุ์อื่นๆ
กวางรูซ่า มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ขนาดกลาง สีขนเทาจนถึงน้ำตาลเหลือง
กวางซีก้า มีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น จีน เวียดนาม เป็นกวางที่มีขนาดกลาง ขนสีเหลืองอมน้ำตาล นิยมเลี้ยงเพื่อตัดเขากวางอ่อน
กวางฟอลโล มีถิ่นกำเนิดในยุโรป ลำตัวสีเทา-น้ำตาล มีจุดสีขาวหางยาว
กวางแดง มีถิ่นกำเนิดในยุโรป ขนสีน้ำตาลแดง มีขนาดใหญ่
ตารางที่ 3 ชนิดพันธุ์กวางที่สามารถเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจในประเทศไทย
พันธุ์กวาง ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ประเภทสัตว์
กวางป่า, กวางม้า Sambar deer Cervus uniculor สัตว์เศรษฐกิจ
เนื้อทราย Hog deer Cervus porcinus สัตว์เศรษฐกิจ
กวางดาว Chital deer Axis axis สัตว์เศรษฐกิจ
กวางรูซ่า Rusa deer Cervus timorensis สัตว์เศรษฐกิจ
กวางซีก้า Sika deer Cervus nippon สัตว์เศรษฐกิจ
กวางแดง Red deer Cervus elaphus บัญชีไซเตรส
กวางฟอลโล Fallow deer Dama dama บัญชีไซเตรส
ที่มา : Grzimek (1984)
นอกจากนี้ยังมีกวางมัสค์ (Musk deer, Moschus moschiferus) ที่ประเทศจีนสกัดสารที่มีกลิ่นฉุนจากต่อมบริเวณช่องท้องของกวางตัวผู้ ใช้ทำการผลิตหัวน้ำหอม และกวางในเขตหนาวอื่นๆ เช่น กวางวาปิติ (Wapiti or Elk deer, Cervus canadensis) กวางเรนเดียร์ (Reindeer, Rangifer tarandas) เป็นต้น
ตารางที่ 4 ข้อมูลจำเพาะของกวางพันธุ์ต่างๆ
พันธุ์กวาง น้ำหนัก (กก.) ส่วนสูง (ซ.ม.) ความยาว (ซ.ม.) ระยะอุ้มท้อง (วัน)
กวางป่า (อินเดีย) 150-315 120-150 170-270 240
เนื้อทราย 70-110 60-75 105-115 220-235
กวางดาว 75-100 75-97 110-140 210-225
กวางรูซ่า 102 110 - 252
กวางซีก้า 45-80 63-109 110-170 222-240
กวางแดง 75-340 75-150 165-265 225-262
กวางฟอลโล 35-200 80-105 130-235 232-237
ที่มา : Grzimek (1984)
กวางป่า หรือ กวางม้า "กวางไทย"
ลักษณะทั่วไป
- ถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียใต้ ตั้งแต่ อินเดีย ศรีลังกา เนปาล พม่า ภูฎาน ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบางส่วนของจีน
- มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้
- สีขาวแกมน้ำตาลเข้ม หางค่อนข้างสั้น แต่ใหญ่ หางยาวประมาณ 26-30 ซ.ม. ขนหางด้านล่างมีสีขาว เพศเมียมีสีอ่อนกว่า
- บริเวณหัวตาแต่ละข้างจะมีแอ่งน้ำตาขนาดใหญ่ เรียกว่า ต่อมใต้กระบอกตา ใช้ในการผลิตสารที่มีกลิ่นฉุนสำหรับสื่อสารและบอกอาณาเขต จะขยายใหญ่ช่วงฤดูผสมพันธุ์
- เพศผู้อาจมีน้ำหนักถึง 320 กก. แต่ทั่วไปน้ำหนักเฉลี่ย 250 กก. วัดความยาวจากปลายจมูกถึงโคนหาง 180-200 ซ.ม. ความสูงจากพื้นถึงไหล่ 140-160 ซ.ม.
- เพศเมียอาจมีน้ำหนักถึง 250 กก. เฉลี่ย 155 กก. สูง 120 ซ.ม.
อุปนิสัย
ชอบอยู่สันโดษ โดยเฉพาะตัวผู้ ได้ชื่อว่าเป็นกวางที่มีการรวมฝูงน้อยที่สุด รวมฝูงประมาณ 2-4 ตัว และส่วนใหญ่จะไม่ต่อสู้เพื่อคุมฝูงตัวเมีย อาศัยในป่าธรรมชาติทุกภาคของประเทศไทย ชอบหากินในทุ่งโล่งและชายป่าในเวลากลางคืนและช่วงเช้า เมื่ออากาศร้อนจะหลบซ่อนไปนอนตามพุ่มไม้ชายป่า และบางครั้งขอบนอนแช่ในปลักเช่นเดียวกับควาย สายพันธุ์ที่พบในไทยเป็นสายพันธุ์ย่อย ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cervus unicolor equinus (สวัสดิ์, 2527)
กินใบไม้ ประมาณ 66.6% กินหญ้าประมาณ 20.4% และเป็นพืชตามพื้นดินและลูกไม้ประมาณ 13% (Jac Saxton, 1983) และได้ชื่อว่า สามารถปรับพฤติกรรมการกินได้สูงสุด ทั้งนี้ ขึ้นกับแหล่งอาหารและอาหารที่มี
เนื้อทราย หรือ ตามะแน
ลักษณะทั่วไป
- มีขนาดเล็ก ขนสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลแกมแดง บางตัวอาจจะมีจุดสีขาวบริเวณลำตัว
- มีถิ่นกำเนิดในที่ราบลุ่มของประเทศอินเดีย ปากีสถาน พม่า เนปาล อัสสัม กัมพูชา เวียดนาม และไทย ปัจจุบันประเทศไทยพบยากมากในป่าธรรมชาติ แต่มีการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้ดีในการเลี้ยงขังตามสวนสัตว์ และฟาร์มเอกชนหลายแห่ง
- ค่อนข้างเจ้าเนื้อ อ้วนเตี้ยคล้ายหมู (Hog)
- เพศผู้เมื่อโตเต็มที่มีความสูงที่หัวไหล่ 70 ซ.ม. หนัก 45-50 กก. เพศเมีย มีขนาดเล็กกว่า สูง 61 ซ.ม. และหนัก 30 กก.
- เขา มีเฉพาะตัวผู้ เขาเทียนจะเริ่มงอกเมื่ออายุประมาณ 8 เดือน และผลัดเปลี่ยนเขาทุกปี เขาของเนื้อทรายจะมีข้างละ 3 กิ่ง คล้ายกับเขาของกวางป่า
อุปนิสัย
โดยธรรมชาติชอบอาศัยอยู่ในป่าโปร่ง และตามทุ่งหญ้า เนื้อทรายจะตื่นตกใจง่ายคล้ายกับกวางดาว เวลาวิ่งมักจะก้มหัวต่ำและชอบมุด ไม่ชอบกระโจนหรือกระโดด ถ้าถูกต้อนอยู่ในที่คับแคบ ตัวผุ้ที่มีเขาจะทำร้ายกวางตัวอื่นๆ ที่อยู่ใกล้
เนื้อทรายสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ระยะตั้งท้องประมาณ 8 เดือน โดยปกติตกลูกครั้งละ 1 ตัว เคยพบอยู่บ่อยครั้งเวลามีลูกอ่อน แม่เนื้อทรายตัวอื่นๆ จะเข้ามาดูแลและแย่งเลี้ยงลูก เนื้อทรายอาจจะผสมพันธุ์กับกวางดาวและละมั่งได้
เนื่องจากเนื้อทรายเป็นกวางที่ชอบมุด ดังนั้น ในการทำรั้วแปลงหญ้าในส่วนที่ติดดิน ควรก่ออิฐหรือตอกหมุดฝังดินยึดรั้วให้แน่น เนื้อทรายไม่ควรเลี้ยงปนกับกวางอื่น เคยมีผู้เลี้ยงเนื้อทรายปนกับกวางป่า ปรากฏว่าพ่อพันธุ์เนื้อทรายจะควบคุมกวางป่าตัวเมียเวลาเป็นสัด ทำให้พ่อกวางป่าไม่สามารถผสมพันธุ์ได้ แม้เนื้อทรายจะตัวเล็กกว่า แต่วงเขาแคบ ทำให้กวางป่าไม่กล้าเข้าผสมพันธุ์กับแม่กวางที่เป็นสัด
กวางรูซ่า
ลักษณะทั่วไป
- มีขนาดกลาง ลำตัวสีน้ำตาลเหลือง-น้ำตาลเทา เพศเมียสีอ่อนกว่าเพศผู้
- สูงประมาณ 1.1-1.3 เมตร
- สายพันธุ์ชวารูซ่า น้ำหนักโตเต็มที่ เพศผู้ 120-160 กก. เพศเมีย 65-90 กก.
- สายพันธุ์โมลัคกัน น้ำหนักโตเต็มที่ เพศผู้ 80-100 กก. เพศเมีย 50-60 กก.
อุปนิสัย
- ชอบอยู่เป็นฝูง นิสัยค่อนข้างตื่นตกใจง่าย และจะวิ่งหนี สามารถกระโดยได้สูงถึง 2 เมตร โดยเฉพาะพ่อแม่พันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
- ช่วงที่เขาแข็ง จะแสดงอาการดุร้าย หวงตัวเมีย จะไม่ให้ตัวผู้อื่นเข้าใกล้ ไล่ขวิดกันจนกว่าจะยอมแพ้หนีไปเอง บางครั้งขวิดกันจนขาหักอาจตายได้
กวางที่จับแยกจากแม่มาเลี้ยงตั้งแต่เล็กอายุไม่เกิน 2 เดือน ค่อนข้างเชื่องและคุ้นเคยกับคนเลี้ยงทั้งเพศผู้และเพศเมีย สามารถปล่อยออกมาเดินเล่นกับคนได้ เมื่อถึงระยะที่เขาแข็งกวางเพศผู้ที่คุ้นเคยกับคนจะดุมาก จะแสดงอาการเดินเข้าหาแบบช้าๆ ขนที่คอจะตั้งชัน ร่องที่ใต้ตาจะเปิดออก ทำริมฝีปากม้วน ฉี่เป็นวงใส่ตัวเอง กระทืบเท้าและทุ่มตัวเข้าใส่ พร้อมที่จะขวิดเมื่อคนเข้าใกล้
ลูกกวางที่จับมาเลี้ยงด้วยนมกระบือมุร่าห์ ถ้าจับมาตั้งแต่เล็กอายุไม่เกิน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่จะดูดขวดนมได้เองและกินเก่งมาก กวางอายุ 1-2 เดือน สามารถกินได้ถึง 1.2-1.4 ลิตร/ตัว/วัน
กวางฟอลโล
ลักษณะทั่วไป
- ขนาดเล็ก มีถิ่นกำเนิดในยุโรป เมดิเตอร์เรเนียน
- โตเต็มที่สูงประมาณ 75-105 ซ.ม. น้ำหนัก 50-80 กก.
- หน้าสั้น ลำตัวสีน้ำตาลจาง-น้ำตาลสนิม มีจุดขาว บางตัวมีสีขาวตลอดลำตัว ฤดูร้อนลำตัวเป็นสีน้ำตาลมีจุดขาวเห็นเด่นชัด หน้าหนาวลำตัวสีน้ำตาลสนิม-น้ำตาลเทา มีจุดน้อยสีขาวจางๆ
อุปนิสัย
- ชอบอยู่รวมเป็นฝูง
- ค่อนข้างขี้ขลาด ตื่นเต้นได้ง่ายกว่าพันธุ์อื่น ถ้าเกิดเสียงดังจะวิ่งหนี หรือกระโดด (คล้ายกระต่าย) ไปก่อน แล้วค่อยๆ เดินกลับมาดูอีกครั้ง แต่ถ้าถึงเวลาให้อาหารก็จะเข้าใกล้คน ย้ายฝูงได้ง่าย
กวางเพศผู้
ช่วงที่เขาแข็ง ถ้าเกิดความเครียด เช่น การไล่ต้อนฝูงเข้าไปอยู่ในที่แคบๆ เพื่อทำเบอร์ หรือ ฉีดยา กวางตัวผู้จะหันไปขวิดกันเอง และหันมาทำร้ายกวางตัวเมียและลูกกวาง อาจเกิดความเสียหายได้
กวางเพศเมีย
ระยะคลอดลูก ถ้าเกิดความเครียดจากการไล่ต้อน หรือคนเข้าไปดูลูกเกิดใหม่ จะทำให้แม่กวางไม่ยอมเลี้ยงลูกและทิ้งลูกไปเลย ต้องจับลูกมาเลี้ยง และส่วนใหญ่จะไม่รอดเนื่องจากลูกกวางอ่อนแอมาก
ปัญหาและอุปสรรคที่พบในการเลี้ยงกวางฟอลโล
เนื่องจากกวางมีถิ่นกำเนิดในเขตหนาว ต้องดุแลมากเป็นพิเศษทั้งด้านการให้อาหารข้นที่มีคุณภาพ และอาหารหยาบ ในช่วงหน้าแล้งที่มีแต่หญ้าแห้ง หญ้าหมัก ต้องหาใบไม้สดเสริมเพราะกวางจะทรุดโทรมง่ายกว่ากวางพันธุ์อื่นๆ ซึ่งจะมีผลต่อการให้ลูกให้ปีต่อไป
ลูกที่เกิดในฤดูผน (พฤษภาคม-มิถุนายน) มีความชื้นในอากาศสูง ทำให้ลูกกวางมีสภาพอ่อนแอ และเกิดโรคปอดบวมแทรกซ้อนได้ง่าย ทำให้เกิดการสูญเสียมาก จึงต้องกำหนดฤดูผสมพันธุ์เพื่อให้ลูกเกิดในช่วงปลายเดือนกันยายน-ต้นพฤศจิกายน
กวางแดง
ลักษณะทั่วไป
- มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ถิ่นกำเนิดเดิมอยู่ในยุโรป
- ขนาดเมื่อโตเต็มที่ เพศผู้ หนัก 160 กก. เพศเมีย หนัก 90 กก. สูง 1.2-1.5 เมตร
- ลำตัวสีน้ำตาลแดง มีขนยาว หน้ายาว
อุปนิสัย
- ชอบอยู่รวมฝูง ไม่ปะปนกับกวางพันธุ์อื่นๆ
- ค่อนข้างเชื่อง โดยเฉพาะเพศเมีย ไม่ค่อยตื่นตกใจ แต่เพศผู้ยังคงตื่นคนอยู่
- เพศเมียจะเป็นตัวนำฝูงเมื่อมีการไล่ต้อน
- ชอบลงแช่น้ำในเวลากลางวัน
เพศผู้
ในช่วงที่มีเขาแข็งจะต่อสู้กันเองเพื่อแย่งชิงเพศเมีย ตัวใดชนะก็จะคุมฝูงและไล่ขวิดตัวผู้อื่นๆ ไม่ให้เข้าใกล้บริเวณที่มีตัวเมียอยู่ โดยจะวิ่งวนไปรอบฝูงตัวเมีย
เพศเมีย
ในช่วงแรกที่นำเข้ามาใหม่ๆ กวางจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ไม่ดีนัก ทำให้ลูกกวางที่เกิดมาอ่อนแอตายเป็นจำนวนมาก แม่กวางจะหวงลูกและซ่อนลูกไว้ใต้พุ่มไม้ ถ้ามีคนไปรบกวนหรือจับตัวลูกกวาง แม่จะไม่ยอมรับลูกเลย บางครั้งจะให้หัวตบ กัด เตะ และกันไม่ให้เข้าฝูง
ลูกกวาง
ช่วงระยะหย่านมจะต้องมีการศึกษาระยะที่เหมาะสมในการหย่านม เนื่องจากลูกกวางเมื่อหย่านมใหม่ๆ จะร้องเรียกแม่อยู่ตลอดเวลาและเดินวนรอบแปลงหญ้าตลอดคืน ทำให้ลูกกวางเหนื่อยตายได้
ปัญหาและอุปสรรคที่พบในการเลี้ยงกวางแดง
เนื่องจากเป็นกวางที่มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาว และตัวใหญ่จึงค่อนข้างหอบง่ายกว่ากวางพันธุ์อื่นๆ เมื่อมีการไล่ต้อนเพื่อย้ายแปลง ถ้าไม่สามารถย้ายได้ในการไล่ครั้งแรก หรือครั้งที่สอง จะต้องปล่อยให้กวางหยุดพักแล้วจึงไล่ใหม่ ทำให้เสียเวลาในการไล่ต้อน
กวางซีก้า (กวางญี่ปุ่น)
ลักษณะทั่วไป
- มีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น จีน เวียดนาม
- มีขนาดกลาง ขนสีเหลืองอมน้ำตาล น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ เพศผู้ 70-110 กก. เพศเมีย 50-60 กก.
- ประเทศจีน เลี้ยงเพื่อผลิตเขากวางอ่อน เขากวาง มีข้างละ 4 กิ่ง น้ำหนักเขาอ่อน 0.5-1 กก. ต่อคู่ ในร้ายขายยาจีน (เยาวราช) จำหน่ายเขากวางอ่อนอบแห้ง ส่วนใหญ่เป็นเขากวางซีก้า
อุปนิสัย
มีความสามารถในการกินอาหารได้หลายชนิด ทั้งหญ้าและใบไม้ เมื่อโตเต็มที่จะกินหญ้าสดประมาณ 10-15 กก./วัน สามารถรวมฝูงได้ดี (กวางซีก้าที่มีขายในประเทศไทยเป็นสายพันธุ์เวียดนาม ซึ่งถูกจับมาเลี้ยงแบบขังนานกว่า 100 ปีแล้ว จึงเป็นกวางที่สามารถปรับตัวเข้ากับการเลี้ยงแบบขังคอกได้ดี 4-8 ตารางเมตร/ตัว)
กวางลูกผสมแซมบ้า-รูซ่า (Sambar-Rusa Crossbred)
ลักษณะทั่วไป
เป็นกวางขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื่องจากเป็นลูกผสมระหว่างกวางป่าไทยกับกวางรูซ่า ลักษณะคล้ายทั้งกวางแซมบ้าและกวางรูซ่า
อุปนิสัย
ชอบอยู่รวมฝูง ไม่ปราดเปรียวมากนักเนื่องจากตัวขนาดใหญ่ ถ้าตื่นตกใจจะร้องเสียงดังแล้ววิ่งหนี ชอบลงนอนแช่ปลักโคลน ช่วงเขาแข็งจะค่อนข้างดุ จะยืนจ้องและใช้เท้ากระทืบพื้นขู่ เช่นเดียวกับตัวเมียเวลาหวงลูก
ลูกกวางที่จับมาเลี้ยงจะเลี้ยงยากเนื่องจากไม่ยอมดูดนมเอง ต้องบังคับโดยใช้นิ้วแหย่เข้าไปในปาก แล้วป้อนนมเข้าไป และใช้เวลาในการป้อนนมนาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น