วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

พาหมาไปผ่าตัด

พาหมาไปผ่าตัด ผศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ผ่าตัด” ก็ให้รู้สึกเสียวสันหลังวาบไป ไม่ว่าจะเป็นการถูกผ่าตัดเองหรือพาใครไปรับการผ่าตัด แม้ว่าไม่ใช่ญาติพี่น้อง มนุษย์มนา แต่เป็น “หมา” ก็ยังมิวาย จะด้วยเหตุแห่งการกลัวคมมีด กลัวความเจ็บปวด กลัวเลือด หรือแม้แต่กลัวถูกวางยาแล้วจะไม่ฟื้น ฯลฯ นี่แหละล้วนทำให้เราขยาด พาลหลีกหนีการผ่าตัดให้ห่างๆ ละก็ดี แต่ความจำเป็นในเฉพาะอย่างยิ่งกับสัตว์เลี้ยงเช่นหมา นับจากการตอนเพื่อคุมกำเนิดทั้งหมาตัวผู้และตัวเมีย ไปจนถึงเพื่อการรักษาพยาบาลเช่น ผ่าตัดเอานิ่วออก ผ่าตัดเอามดลูกเป็นหนองทิ้ง ฯลฯ ฉะนั้นผมว่าน่าจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและวิธีการเตรียมตัวแก่เจ้าตูบให้เหมาะสมเพื่อเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก มิหนำซ้ำกลับช่วยป้องกันความผิดพลาด และอุบัติเหตุที่มิคาดฝันจากการผ่าตัดลงได้ ขั้นตอนที่จำเป็นมีดังนี้ 1) ความสะอาดร่างกาย เพื่อความสะดวกและสะอาดอย่างเต็มที่หากท่านจะทำความสะอาดร่างกายหมาเสียก่อนนำมาผ่าตัด เพราะจะเป็นการขจัดเชื้อโรคและสิ่งสกปรกออกไปส่วนหนึ่งก่อน ตลอดจนภายหลังผ่าตัดอีกไม่น้อยกว่า 7 วัน ที่หมาจะไม่สามารถถูกอาบน้ำได้ ท่านเพียงอาบน้ำทำความสะอาด ฟอก ขัด ถู บริเวณที่ต้องโดนคมมีดมากขึ้นเป็นพิเศษก็เพียงพอแล้ว 2) งดอาหารและน้ำ เฉกเช่นการผ่าตัดของคนเรา หมาก็ย่อมต้องวางยาสลบ ฉะนั้นจำต้องอดน้ำและอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด ทั้งนี้เพื่อป้องกันการอาเจียน สำลักเอาเศษอาหารเข้าหลอดลม ซึ่งอาจถึงกับเสียชีวิตได้เพราะสัตว์ไม่รู้สึกตัว ตลอดจนเป็นการลดความดันและแออัดในช่องท้องลง เพราะไม่มีอาหารในกระเพาะอาหาร และไม่มีฉี่ในกระเพาะปัสสาวะแล้ว ท่านเจ้าของต้องให้แน่ใจนะครับว่าหมาของท่านถูกอดจริงๆ บางรายนายอด บ่าวให้ หรือหมาแอบดอดไปกินเอง พอวางยาเท่านั้นแหละควักอาเจียน ช่วยหายใจกันแทบไม่ทัน 3) ดูแลหลังผ่าตัด ส่วนใหญ่เมื่อหมาหลังผ่าตัดเริ่มฟื้นก็ดีใจกันว่ารอดแล้ว สบายใจได้ หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการเริ่มของภาระกิจหนักหนาอีกกว่า 7 วัน ท่านเจ้าของต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมการพยาบาลดูแลหมาดังนี้ 3.1 ป้องกันหมาแทะ แกะ เลียแผลผ่าตัด อันนี้สำคัญที่สุด บางตัวแทะจนแผลแตก ไส้ ไหลออกมาข้างนอกก็มี ฯลฯ ฉะนั้นต้องดูแลป้องกันอาจจะใช้ปลอกคอกันแทะ หรือสวมเสื้อรัดแผล ฯลฯ ลองปรึกษาสัตวแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดดู 3.2 อย่าให้แผลเปียกน้ำ สกปรก หมักหมมด้วยฉี่ และอึ 3.3 ระวังหมาตัวอื่นจะมาช่วยแทะ แกะ เลีย ควรแยกหมาป่วยไปพยาบาลในที่อื่นจนกว่า แผลจะหายดีแล้วจึงนำกลับมาเข้าพวก รวมฝูง 3.4 งดการกระโดดโลดเต้น ควรให้พักกิจกรรมไว้จนกว่าแผลผ่าตัดหายดี เป็นการป้อง กันแผลแตก หรือไม่ติด 3.5 กรณีผ่าช่องท้อง เช่น ตอนตัวเมีย ไม่ควรให้หมาขณะพักฟื้นกินอาหารจนอิ่มแน่น เกินไป แผลเย็บที่หน้าท้องอาจปริแตกได้ง่ายๆ 3.6 ป้อนยากิน ทายาที่แผล และปฏิบัติตามคำสั่งของหมออย่างเคร่งครัด ตลอดจนเมื่อถึงวันนัดหมายไปตรวจหรือตัดไหม ก็จงไปตามนัดอย่าผัดผ่อน โชคดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น