วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

ปลากัด

ปลากัด ปลากัด หรือ ปลากัดภาคกลาง (อังกฤษ: Siamese fighting fish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Betta splendens) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก อยู่ในวงศ์ Macropodinae ซึ่งอยู่ในวงศ์ใหญ่ Osphronemidae มีรูปร่างเพรียวยาวและแบนข้าง หัวมีขนาดเล็ก ครีบก้นยาวจรดครีบหาง หางแบนกลม มีอวัยวะช่วยหายใจบนผิวน้ำได้โดยใช้ปากฮุบอากาศโดยไม่ต้องผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป เกล็ดสากเป็นแบบทีนอยด์ ปกคลุมจนถึงหัว ริมฝีปากหนา ตาโต ครีบอกคู่แรกยาวใช้สำหรับสัมผัส ปลาตัวผู้มีสีน้ำตาลเหลือบแดงและน้ำเงินหรือเขียว ครีบสีแดงและมีแถบสีเหลืองประ ในขณะที่ปลาตัวเมียสีจะซีดอ่อนและมีขนาดลำตัวที่เล็กกว่ามากจนเห็นได้ชัด ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 6 เซนติเมตร พบกระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำนิ่งที่มีขนาดตื้นพื้นที่เล็กทั้งในภาคกลางและภาคเหนือในประเทศไทยเท่านั้น สถานะปัจจุบันในธรรมชาติถูกคุกคามจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและสารเคมีที่ตกค้าง มีพฤติกรรมชอบอยู่ตัวเดียวในอาณาบริเวณแคบ ๆ เพราะดุร้ายก้าวร้าวมากในปลาชนิดเดียวกัน ตัวผู้เมื่อพบกันจะพองตัว พองเหงือก เบ่งสีเข้ากัดกัน ซึ่งในบางครั้งอาจกัดได้จนถึงตาย เมื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้จะเป็นฝ่ายก่อหวอดติดกับวัสดุต่าง ๆ เหนือผิวน้ำ ไข่ใช้เวลาฟัก 2 วัน โดยที่ปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายดูแลไข่และตัวอ่อนเอง โดยไม่ให้ปลาตัวเมียเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ปลากัด เป็นปลาที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีมาแต่โบราณ โดยปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมจากธรรมชาติมักเรียกติดปากว่า "ปลากัดทุ่ง" หรือ "ปลากัดลูกทุ่ง" หรือ "ปลากัดป่า" จากพฤติกรรมที่ชอบกัดกันเองแบบนี้ ทำให้นิยมนำมาเลี้ยงใช้สำหรับกัดต่อสู้กันเป็นการพนันชนิดหนึ่งของคนไทย และได้มีการพัฒนาสายพันธุ์และความสามารถในชั้นเชิงการกัดจนถึงปัจจุบัน จนเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศไทยและเป็นที่รับรู้ของชาวต่างชาติในชื่อ "Siamese fighting fish" ในปัจจุบัน ปลากัดภาคกลางได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น มีสีสันที่สวยงามและหลากหลายขึ้น เรียกว่า "ปลากัดหม้อ" นิยมเลี้ยงในภาชนะขนาดเล็กและแคบ เช่น ขวดโหล ขวดน้ำอัดลม เป็นต้น อีกทั้งยังได้พัฒนาสายพันธุ์ในแง่ของความเป็นปลาสวยงามอีกหลายสายพันธุ์ เช่น ปลากัดจีน ที่มีเครื่องครีบยาว ปลากัดแฟนซี ที่มีสีสันหลากหลายสวยงาม ปลากัดคราวน์เทล หรือ ปลากัดฮาร์ฟมูน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น